สาเหตุของสงครามเกาหลี
สาเหตุของสงครามเกาหลี

สาเหตุของสงครามเกาหลี

สาเหตุของสงครามเกาหลี

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ประเทศเกาหลี ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ได้ถูกแบ่งเขตตามความตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเพื่อยอมรับการจำนนของญี่ปุ่น โดยสหรัฐ ฯ ตกลงใจที่จะรับการยอมจำนนของญี่ปุ่น ใต้เส้นขนานที่ ๓๘ องศาเหนือ ส่วนสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายรับการยอมจำนนในดินแดนทางตอนเหนือ

 แผนที่แบ่งเกาหลี

ใน พ.ศ.๒๔๙๑ สหรัฐ ฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ เพื่อสถาปนาชาติิเอกราช โดยให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศอย่างเสรี แต่สหภาพโซเวียตปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือด้วย  อย่างไรก็ตาม ได้มีการสถาปนารัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีในเขตใต้ และต่อมาสหภาพโซเวียต ได้สถาปนารัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีขึ้น ทางตอนเหนือ เกาหลีเหนือ ซึ่งนิยมลัทธิการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ได้พยายามแทรกซึมและแผ่อิทธิพลเข้าไปในเกาหลีใต้ และในวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ เวลา ๐๔.๐๐ น. กองทัพเกาหลีเหนือ ซึ่งได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกจากสหภาพโซเวียต รวมทั้งกำลังสนับสนุนทางทหารจากจีนคอมมิวนิสต์ จึงได้เคลื่อนกำลัง จำนวน ๑๐ กองพล บุกรุกลงมาทางใต้และสามารถยึดกรุงโซล นครหลวงของเกาหลีใต้ได้ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๓ องค์การสหประชาชาติ จึงร้องขอให้ประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือด้านกำลังรบ เพื่อยับยั้งการรุกรานของเกาหลีเหนือ

การเข้าร่วมสงครามของประเทศไทย

ในระยะแรกรัฐบาลไทยได้แจ้งความจำนงว่า จะส่งข้าวไปช่วยสหประชาชาติ แต่่เมื่อองค์การสหประชาชาติยืนยันขอรับการสนับสนุนด้านกำลังรบ สภาป้องกันราชอาณาจักรจึงได้้เสนอเรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางทหารทางภาคพื้นดินด้วยกำลัง ๑ กรมผสม แก่คณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีมติเห็นชอบด้วย และรัฐสภาได้รับทราบการตกลงใจของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๓ต่อมารัฐบาล ได้นำความกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุมัติ ส่งทหารไปร่วมรบกับสหประชาชาติ ในกรณีสงครามเกาหลี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ประกาศ ให้ใช้กำลังทหารเพื่อการรบเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๓ กำลังทหารไทยชุดแรกที่ส่งไปรบในสมรภูมิเกาหลี ประกอบด้วยกำลังของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ได้เดินทางไปยังประเทศเกาหลี เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓ โดยจัดกำลังในลักษณะกรมผสมเรียกว่า “กรมผสมที่ ๒๑” ประกอบด้วยกำลังหนึ่งกองพันทหารราบ หนึ่งกองพันทหารปืนใหญ่ หนึ่งกองสื่อสาร หนึ่งกองร้อยทหารช่าง และหนึ่งกองลาดตระเวน มีพันเอก บริบูรณ์ จุลละจาริตต์ เป็นผู้บังคับการกรมผสม ขึ้นตรงต่อกองทัพบก มีพลตรี หม่อมเจ้า พิสิษฐ์ดิษพงษ์ ดิศกุล เป็นผู้บัญชาการทหารไทยในเกาหลี

สาเหตุของสงครามเกาหลี

กองทัพบก

ทหารไทยได้เข้าประจำแนวรบต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติ กำลังจากทุกหน่วยได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ิในการรบ ท่ามกลางภูมิประเทศที่ทุรกันดาร และอากาศที่หนาวเหน็บ ในฤดูหนาวด้วยความกล้าหาญอดทน สามารถทำชื่อเสียงให้ปรากฏแก่ทหารนานาชาติ จนได้รับ ฉายาว่า “พยัคฆ์น้อย Little Tiger” การปฏิบัติหน้าที่สำคัญของกองทัพบก ได้แก่ การรบจนถึงขั้นตะลุมบอนที่เขาทีโบน เขาพอร์คชอพ และการรบที่เมืองกุมห์วา (Kumhwa) ในการรบแต่ละครั้งทหารไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าข้าศึกหลายเท่า  สามารถกดดันข้าศึกจนต้องล่าถอยกลับไปพร้อมกับความเสียหายอย่างหนัก อ่านเพิ่มเติม คลิ๊ก

กองทัพเรือ

สำหรับกองทัพเรือ ได้ส่งเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกง ไปสมทบกับกำลังกองทัพเรือที่ ๙๕ ของสหประชาชาติ และได้แสดงความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ี่เรือคุ้มกัน และลำเลียงทหารไทย การตรวจและรักษาด่านเข้าต่อตีเรือดำน้ำระดมยิงฝั่งต่อ
ที่ตั้งกองทหาร ที่ตั้งปืนใหญ่ อุปกรณ์ในการขนส่ง และส่งกำลังบำรุงของข้าศึกท่ามกลางลมพายุ และคลื่นขนาดใหญ่ทั้งกลางวันและกลางคืน จนเรือหลวงประแสเกยตื้นที่นอกฝั่งเมืองยังยาง (YangYang) ในเกาหลีเหนือ เนื่องจากในระหว่างที่เรือกำลังเคลื่อนที่่เข้าฝั่งเพื่อหวังผลการยิงในระยะใกล้ ได้ถูกคลื่นขนาดใหญ่ซัดจนเรือเสียหายไม่สามารถใช้ทำการรบต่อไป จึงจำเป็นต้องสละเรือ และกองทัพเรือได้ส่งเรือหลวงประแสลำที่ ๒ และเรือหลวง ท่าจีนไปปฏิบัติการแทนจนภารกิจต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

กองทัพอากาศ

ส่วนกองทัพอากาศ ได้ส่งหน่วยบินลำเลียงไปสมทบกับกองพลที่ ๓๗๕ ของสหประชาชาติ และได้แสดงความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่บินลำเลียง เพื่อขนส่งทหารและยุทธสัมภาระให้กองทหารภาคพื้นดิน ท่ามกลางการโจมตีของข้าศึกภายใต้สภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการบินอย่างได้ผลดียิ่ง และยังได้จัดชุดพยาบาลปฏิบัติงานลำเลียงผู้บาดเจ็บจากเกาหลีเหนือไปญี่ปุ่นอีกด้วย

ความสามารถของทหารไทยทั้งสามเหล่าทัพ ล้วนเป็นที่ประจักษ์ได้รับการยกย่อง และการยอมรับจากประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมรบเป็นอย่างดี
นอกจากกำลังทหารแล้วสภากาชาดไทย ได้จัดส่งหน่วยพยาบาลไปให้การรักษาพยาบาลทหารต่างชาติในสถานพยาบาลที่ประเทศเกาหลี และญี่ปุ่น จำนวน ๔ รุ่น เจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทยทุกนาย ได้ปฏิบัติงานด้วยความ เข้มแข็งอดทน

เหตุการณ์รบที่เขาพอร์คชอพ (PORK CHOP)

๓๑ ตุลาคม ถึง ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ เขาพอร์คชอพตั้งอยู่บริเวณเมืองชอร์วอน (CHOR – WON) เหนือเส้นขนานที่ ๓๘ เป็น
สันเขาโดดเดี่ยวล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน สูงจากน้ำทะเลประมาณ ๒๓๕ เมตร บริเวณนี้เป็นภูมิประเทศสำคัญที่ทั้งฝ่ายสหประชาชาติและฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องการยึดครอง เนื่องจาก เป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะขึ้นไปยังเมืองชอร์วอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญในการป้องกันของสหประชาชาติ กองพันทหารราบที่ ๑ กรมผสมที่ ๒๑ (อิสระ) ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันโท เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับมอบภารกิจจากกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐ ฯ ในการรักษา ที่มั่นพอร์คชอพให้ปลอดภัย จากการเข้าตีหรือยึดครองของข้าศึก ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งและสนามรบที่เต็มไปด้วยหิมะ

กำลังฝ่่ายข้าศึกเริ่มเข้าตีเพื่อหยั่งกำลังของฝ่ายเรา เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ เวลา ๐๑.๑๐ น.หลังจากนั้นได้ส่งกำลังเข้าตีหลัก ครั้งที่ ๑ เมื่อเวลา ๑๘.๓๐ – ๒๐.๓๐ น.วันเดียวกัน ต่อมาข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีหลัก ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๖ – ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ ในการเข้าตีทุกครั้งข้าศึกประสบความล้มเหลว และได้รับความเสียหายทั้งด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์อย่างมาก แต่ข้าศึกก็ยังไม่ละความพยายามและได้ทุ่มเทกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ในการเข้าตีหลัก ครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๑ พฤศจิกายน  อย่างเต็มที่
โดยหวังผลการรบขั้นแตกหัก

ในการเข้าตีดังกล่าว ข้าศึกได้ใช้กำลัง ๖ กองร้อย และ ๑ กองร้อยลาดตระเวน บุกเข้าโจมตีที่มั่นของกองทหารไทย ซึ่งมีกำลังขั้นต้นเพียง ๑ หมวด กับ ๑ หมู่ เท่านั้นแม้กำลังของสหประชาชาติจะได้ระดมยิงสนับสนุนที่มั่นพอร์คชอพตลอดเวลา  แต่เนื่องจากฝ่ายข้าศึกมีกำลังพลมากกว่า จึงสามารถผ่านเครื่องกีดขวาง และแนวต้านทานเข้ามาได้ การสู้รบดำเนินไปอย่างรุนแรงจนถึงขั้นตะลุมบอน แต่ทหารไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าก็ยังคง ยืนหยัดต่อสู้อย่างทรหดกล้าหาญ เพื่อรักษาที่มั่นไว้โดยไม่ยอมถอนตัวก่อนได้รับคำสั่งแม้ ้จะได้รับความบอบช้ำหลายนาย แต่ขวัญและกำลังใจของฝ่ายไทยก็ยังคงดีเยี่ยม เนื่องจากได้รับการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิดตลอดเวลา ในที่สุดฝ่ายข้าศึกซึ่ง
ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงถอนตัวออกจากสนามรบโดยทิ้งทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บตลอดจนยุทโธปกรณ์ไว้เป็นจำนวนมาก

สรุปยอดความเสียหาย
ฝ่ายไทย เสียชีวิต ๒๓ นาย
บาดเจ็บ ๗๖ นาย
ข้าศึกได้รับความเสียหายด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ทั้งนี้จากหลักฐานและรายงานข่าวกรองตามระยะเวลาของกองพลที่ ๒ สหรัฐ ฯ ระบุว่าข้าศึกทิ้งศพไว้นับได้ ๓๒๒ ศพ รวมคนตายและบาดเจ็บไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน

ผลจากการต่อสู้อย่างทรหด เข้มแข็ง กล้าหาญ และยึดมั่นในระเบียบวินัยของทหารไทย จนบังเกิดผลดีแก่กองกำลังสหประชาชาติ ทำให้กองทัพที่ ๘ สหรัฐ ฯ ซึ่งเป็นหน่วยบังคับบัญชา ได้มอบเหรียญตราเพื่อประกาศเกียรติคุณ จำนวน ๓๙ เหรียญ คือ
๑. ลิเยียนออฟเมอริท (LEGION OF MERIT) ๑ เหรียญ
๒. ซิลเวอร์สตาร์ (SILVER STAR) ๑๒ เหรียญ
๓. บรอนซ์สตาร์ (BRONZE STAR) ๒๖ เหรียญ

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงและสงบศึกที่ปันมุ่นจอมเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น กองกำลังจากชาติต่าง ๆ จึงเริ่มถอนตัวจากเกาหลีตามข้อตกลงสงบศึก คงเหลือกำลังทหารที่เป็นตัวแทนของสหประชาชาติ รักษาการณ์อยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี ๓ ประเทศ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตุรกี และไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ สถานการณ์รอบประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องถอนทหารบางส่วนกลับ คงเหลือกำลังรักษาการณ์ในเกาหลีในผลัดที่ ๗ ถึงผลัดที่ ๒๓ เพียงผลัดละ ๑ กองร้อย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ถอนกำลังทหารไทย
ทั้งหมดกลับเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕

ทหารไทยถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิเกาหลี ตั้งแต่ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ซึ่งเป็นผลัดที่ ๑ ถึงวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ซึ่งเป็นผลัดสุดท้าย รวม ๒๓ ผลัด หลังจาก ที่ทหารต่างชาติในกองทัพสหประชาชาติถอนตัวกลับหมด หน่วยบินลำเลียงของประเทศ
ไทยได้รับการขอร้อง ให้คงอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้ถอนตัวกลับ ทหารไทยที่ถูกส่งไปปฏิบัติการ ในเกาหลีมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๑,๗๗๖ นาย ดังนี้

นายทหาร ๗๔๐ นาย
นายสิบ ๕,๓๓๔ นาย
พลทหาร ๕,๗๐๒ นาย
ยอดการสูญเสีย ดังนี้
ตาย ๑๒๕ นาย
บาดเจ็บ ๓๑๘ นาย
ป่วย ๕๐๓ นาย
สูญหาย ๕ นาย

ผลที่ไทยได้รับในสงครามเกาหลี

๑. ได้ผลในการยับยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ที่คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย ให้ชะงักลงชั่วระยะหนึ่ง

๒. ได้ผลในการป้องกันและกำจัดศัตรูของประเทศไทยเสียแต่ภายนอกประเทศ

๓. ได้ผลในการเผยแพร่ให้โลกเสรีประชาธิปไตย ได้ประจักษ์ถึงวีรกรรมของทหารที่ได้ปฏิบัติการรบเคียงบ่า เคียงไหล่กับบรรดาทหารสหประชาชาติได้อย่างน่าสรรเสริญ

๔. ประเทศไทยได้รับเกียรติ และได้รับความยกย่องจากประเทศเสรีประชาธิปไตย และให้ความเห็นอกเห็นใจแก่ประเทศของเรายิ่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *