ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง
ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง

ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง

ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง

ดินสมรภูมิ คือ การอัญเชิญดินซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบครั้งสำคัญ ที่วีรบุรุษบรรพชนของไทยได้สละชีวิต หลั่งเลือดชโลม
ผืนแผ่นดิน เพื่อปกป้องอิสรภาพ อธิปไตย โดยใช้หลักการขุดค้นทางโบราณคดีถึงชั้นดิน ที่เน้นสมรภูมิจริง นักธรณีวิทยาพิสูจน์
หลักฐานในชั้นดิน เพื่อให้ถูกต้องตามข้อมูลประวัติศาสตร์การรบของบรรพชนไทย  ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง

ประเทศไทยอยู่เป็นเอกราชแต่โบราณ เพราะบรรพบุรุษของไทยผู้มีดวงวิญญาณอันหาญกล้า เสียสละ เลือดเนื้อและชีวิต
รักษาแผ่นดินนี้สืบต่อมาทุกสมัยตั้งแต่สุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์   จังหวัดต่าง ๆ จึงล้วนแต่เป็น “สมรภูมิ” ในอดีตมาเกือบทั้งสิ้น
เพราะเคยเป็นฐานที่มั่นและสนามรบของบรรพบุรุษไทยกับอริราชศัตรูผู้รุกราน โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำ ทั้งทรงบัญชาการรบ
และทรงออกรบด้วยพระองค์เอง สมรภูมิเหล่านั้นยังคงเหลือไว้ซึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ด้วยความระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
และพระคุณแห่งดวงพระวิญญาณของวีรกษัตริย์ ดวงวิญญาณของวีรบุรุษและวีรสตรีไทยผู้กล้าหาญและเสียสละเหล่านี้ จึงได้
กระทำพิธีขุด และอัญเชิญดินสมรภูมิ ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิครั้งสำคัญที่วีรบุรุษบรรพชนของไทย ได้สละชีวิตหลั่งเลือดชโลม
ผืนแผ่นดิน เพื่อปกป้องอธิปไตย โดยใช้หลักการขุดค้นทางโบราณคดีถึงชั้นดินที่เน้นสมรภูมิจริง นักธรณีวิทยาพิสูจน์หลักฐาน
ในชั้นดิน เพื่อให้ถูกต้องตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์การรบของบรรพชนไทย ได้อัญเชิญดินสมรภูมิ  ๑๐ แห่ง มาประดิษฐานไว้ที่
อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง

อัญเชิญดินสมรภูมิเข้าร่วมในพิธีวางศิลาฤกษ์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันพุธที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๖

เนื่องจากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง พล.อ.สายหยุด  เกิดผล
จึงมีดำริให้อัญเชิญดินสมรภูมิไปประดิษฐานไว้ชั่วคราว ณ อุโบสถ วัดชนะสงครามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
(50รับ150) เมื่อวันพุธที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๖

เมื่อก่อสร้างอาคารเสร็จแล้ว วันพฤหัสบดีที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๗ จึงได้อัญเชิญดินสมรภูมิมาประดิษฐานไว้ใต้ฐาน
ดวงโคมนิรันดร์ประภา  หน้าอาคารประกอบพิธี  ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ดินสมรภูมิ ถือเป็นสื่อกลางแทนผู้กล้าหาญที่ไม่ทราบนาม ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑
เนื่องจากยังไม่มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ดินสมรภูมิ ๑๐ แห่ง มีดังนี้

  1. สมรภูมิไทยขับไล่ขอม สมัยกรุงสุโขทัย   ชั้นดินที่อัญเชิญ  คือ ชั้นที่ ๓  เหตุผล พบอิฐหักกากปูนสมัยเดียวกับอิฐปูน ที่สร้างวัดพระพายหลวง ขุดลึก ๕๘ – ๑๐๒ เซนติเมตร ณ บริเวณวัดพระพายหลวง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง รวบรวม กำลังโจมตี และขับไล่ขอมที่เมืองศรีสัชนาลัยได้แล้ว จึงยกกองทัพเข้าขับไล่ขอมสมาดโขลญลำพงผู้ครองกรุงสุโขทัย และสามารถเข้ายึดกรุงสุโขทัยได้
  2. สมรภูมิดอนเจดีย์ สมัยกรุงศรีอยุธยา    ชั้นดินที่อัญเชิญ  คือ ชั้นที่ ๔ เหตุผล พบอิฐ ๑ ก้อนในดินชั้นที่ ๔ นี้ ซึ่งเป็นอิฐสมัยเดียวกับที่ใช้สร้างองค์พระเจดีย์สมัยสมเด็จพระนเรศวร    ขุดลึก ๙๒ – ๑๕๐ เซนติเมตร  ณ บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ตำบลหนองสาหร่ายอำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อพุทธศักราช ๒๑๓๕ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง โปรดให้พระมหาอุปราชายกกองทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงยกทัพออกไปตั้งรับกองทัพข้าศึก มีการทำสงครามยุทธหัตถี ชัยชนะครั้งนี้ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้พระเกียรติยศเลื่องลือแพร่ไปทุกประเทศในชมพูทวีป
  3. สมรภูมิบางระจัน สมัยกรุงศรีอยุธยา  ชั้นดินที่อัญเชิญ  คือ ชั้นที่ ๓  เหตุผล พบอิฐหักกากปูนสมัยเดียวกับอิฐปูน ที่สร้างวัดโพธิ์เก้าต้น แล้วยังพบเศษกระดูกคนถูกไฟเผาหนาแน่นในดิน  ขุดลึก๕๘ – ๑๐๓ เซนติเมตร  ณ บริเวณอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อพุทธศักราช ๒๓๐๘ ข้าศึกได้ยกทัพจะมายึดกรุงศรีอยุธยา แต่ชาวไทยผู้รักชาติได้ รวบรวมกำลังกันตั้งค่ายบางระจัน ฝ่ายข้าศึกได้ยกพลมาตีค่ายบางระจันถึง ๗ ครั้งแต่ไม่สำเร็จ จึงให้สุกี้พระนาย กองยกทัพมาปราบ ด้วยกำลังและอาวุธที่เสียเปรียบ พม่าค่ายบางระจันจึงถูกพม่าตีแตกในที่สุด เมื่อวันจันทร์ เดือน ๘ ปีจอ พุทธศักราช ๒๓๐๙ รวมเวลาตั้งแต่ต่อสู้พม่าได้ ๕ เดือน
  4. สมรภูมิโพธิ์สามต้น สมัยกรุงศรีอยุธยา ขุดลึก ๒๓ – ๘๗ เซนติเมตร ชั้นดินที่อัญเชิญคือ ชั้นดินที่ ๓ เหตุผล พบถ่านและวัตถุดินเผาและเศษอิฐร่วมสมัยธนบุรีตอนต้นในดินชั้นที่ ๓ นี้จึงเชื่อได้ว่าเป็นชั้นดิน ร่วมสมัยกับที่เกิดเหตุการณ์ ในครั้งนั้น ณ บริเวณ ตำบลพุทธเลา อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๐ ภายหลังจากเสียกรุง ครั้งที่ ๒ แก่ข้าศึกแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รวบรวมทหารทั้งไทย จีน ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรีเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาโจมตีป้อมวิชัยประสิทธิ์ยึดเมืองธนบุรีรบ เมื่อตีค่ายโพธิ์สามต้นได้เท่ากับได้กรุงศรีอยุธยา และอิสรภาพกลับคืนมาเป็นของไทย
  5. สมรภูมิบางแก้ว สมัยกรุงธนบุรี ขุดลึก  ๒๙ – ๔๕ เซนติเมตร ณ บ้านบางแก้ว ตำบลบางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๑๗  ชนกลุ่มน้อยประเทศใกล้เคียง ก่อการกบฏ  ถูกปราบปราม หนีเข้ามาในเขตไทย ข้าศึกไล่ติดตามและ ตีทัพไทยแตกหนีไป ทำให้กำเริบคิดจะปล้นทรัพย์จับเชลย  เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทราบข่าวจึงจัดกองทัพไปตั้งค่ายโอบทัพข้าศึกที่บางแก้วไว้  ถูกทัพไทยล้อมสกัด จึงขออ่อนน้อมยอมถวายบังคม ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   เมื่อทัพข้าศึกที่ยกตามมาช่วยในภายหลังทราบข่าวว่าถูกตีแตกหมดแล้ว จึงรีบยกทัพหนีกลับไปพ้นอาณาเขตไทย เมื่อเดือน ๕ ปีพุทธศักราช  ๒๓๑๘
  6. สมรภูมิลาดหญ้า สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขุดลึก ๓๑ – ๕๒  เซนติเมตร ชั้นดินที่อัญเชิญ  คือ ชั้นที่ ๓ เหตุผล พบอิฐป่นปะปนอยู่ในดินจำนวนมาก  ซึ่งเป็นอิฐที่ใช้สร้างค่ายในสมัยรัชกาลที่ ๑   ณ บริเวณไร่หาญสงคราม บ้านปากน้ำรักตำบลวังด้ง อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ข้าศึกได้ยกทัพ ๙ ทัพมาตีไทย ๕ ทิศทางในเวลาเดียวกัน โดยกำลังส่วนใหญ่ของข้าศึกยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงทรงจัดกองโจรซุ่มสกัดกองลำเลียงอาหาร ทำให้ทัพหน้าข้าศึกขาดแคลนเสบียงอาหาร และทรงใช้อุบายลวง โดยในเวลากลางคืน ให้จัดกองทัพออกไปจากค่ายไม่ให้ข้าศึกเห็น ครั้นรุ่งเช้าก็ให้ยกขบวนกลับเข้ามา ทำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง  คิดว่าไทยมีกำลังมาหนุนเพิ่มทุกวันเมื่อทรงเห็นว่า ข้าศึกอดอยาก และเสียขวัญมากแล้ว จึงรับสั่งให้ระดมตีข้าศึกพร้อมกัน  ข้าศึกจึงเลิกทัพกลับไป
  7. สมรภูมิถลาง  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขุดลึก ๓๓ – ๕๕ เซนติเมตร ณ เขตบ้านดอน หมู่ที่ ๔ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๘ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  ข้าศึกได้ยกทัพ ๙ ทัพเข้ามาตีประเทศไทย ๕ ทิศทางในเวลาเดียวกัน โดยกองทัพที่ยกมาทางใต้นั้น  ยกกำลังมาทั้งทางบก และทางน้ำ ในวีรกรรมดังกล่าว คุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองถลาง และนางมุกน้องสาว  รวมถึงชาวเมืองทั้งชายหญิงต่างช่วยกัน ต่อสู้ข้าศึกอย่างเข้มแข็ง   ด้วยความกล้าหาญของคุณหญิงจันและนางมุก เมื่อเสร็จศึก ๙ ทัพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพสตรี ตั้งนางมุกเป็นท้าวศรีสุนทร เพื่อเป็นเกียรติประวัติวีรกรรมความกล้าหาญสืบไป
  8. สมรภูมิเชียงใหม่  สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขุดลึก ๓๘ – ๕๙ เซนติเมตร ณ  บนเชิงเทินแจ่งศรีภูมิ ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่  เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๕ ข้าศึก กองทัพยกมาตีเมืองเชียงใหม่ ตั้งล้อมเมืองไว้ทั้งสี่ด้าน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงทราบ จึงโปรดให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปบัญชาการศึก แต่ทรงพระประชวรไม่สามารถเสด็จต่อไปได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ยกทัพขึ้นไปช่วย เมื่อสมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง เสด็จขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ ทรงไต่สวนการศึกแล้วจึงรับสั่งให้กองทัพทั้งหมด ยกเข้าตีค่ายข้าศึกพร้อมกัน  ขณะเดียวกันพระเจ้ากาวิละ ก็ยกกองทัพจากข้างในเมืองตีกระหนาบออกมา ทำให้กองทัพข้าศึกแตกพ่ายเป็นผลสำเร็จ
  9. สมรภูมิเชียงแสน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ขุดลึก ๖๒ – ๘๑ เซนติเมตร ณ เนินดินอยู่ทางทิศใต้ประตูป่าสัก บริเวณป้อมเมืองเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๔๕ ข้าศึกได้ยกทัพ มาตีเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มีรับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่ทัพยกทัพมาขับไล่ข้าศึกได้เป็นผลสำเร็จ  ไม่คิดจะตั้งมั่นอยู่ในแว่นแคว้นล้านนาไทยอีกต่อไป
  10. สมรภูมิทุ่งสัมฤทธิ์  สมัยรัตนโกสินทร์ ขุดลึก ๓๐ – ๔๒ เซนติเมตร ณ เขตหมู่บ้านสัมฤทธิ์ หมู่ที่ ๑ ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๙ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ข้าศึกได้ยกกองทัพมายึดเมืองโคราช เป็นวีรกรรมของคุณหญิงโมภรรยาปลัดเมืองโคราช ร่วมกับชาวบ้านที่ต่อสู้ขับไล่ ข้าศึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คุณหญิงโม เป็นท้าว สุรนารี นับเป็นวีรสตรีที่สำคัญท่านหนึ่งของไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *